Social Media ข้อดี ข้อเสีย และการปฏิบัติตนที่ไม่ตกเป็นเหยื่อ

ในยุคที่การท่อง Social Media เป็นเหมือนกิจวัตรประจำวัน เหมือนการล้างหน้า แปรงฟัน หรือกินอาหาร 3 มื้อ แต่ต่างที่การดูโซเชียลมีเดียไม่ได้จำกัดว่าควรทำกี่ครั้งต่อวัน หรือเป็นเวลานานเท่าไหร่ ดังนั้นแพลตฟอร์มต่าง ๆ จึงมีการรันอยู่ตลอดเวลา เพราะรองรับการใช้งานของคนทั่วโลก

บางคนสร้างแอคเค้าน์ของตัวเองขึ้นมาใน Social Media อย่าง Facebook และอัปเดตเรื่องราวต่าง ๆ เป็นเหมือนการบันทึกชีวิตประจำวันของตัวเอง พบเจออะไรมา ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ก็บันทึกไว้ใน Social Media  ทั้งหมด แต่อาจจะน่าสนใจกว่าสมุดบันทึกตรงที่จะเห็น Reaction ของเพื่อนได้ทันทีว่าคิดเห็นอย่างไร 

บางคนสร้างแอคเค้าน์ใน Instagram เพื่อติดตามดารา นักร้อง และเซเลบที่ชื่นชอบจากทั่วโลกเป็นการเฉพาะ บางคนถึงขั้นเดาได้ว่าดาราจากเกาหลีมักโพสต์ตอน 7 โมงเช้าบ้านเรา เพราะบ้านเค้า 9 โมงแล้ว หรือเจ้าชายจากตะวันออกกลางมักโพสต์ช่วงเที่ยงของบ้านเรา ซึ่งเป็นเวลาบ้านเค้าตอน 9 โมงเช้า เป็นต้น และติดตามดูไลฟ์สไตล์เพื่อให้ความรู้สึกว่าได้ใกล้ชิดตัวตนของเหล่าเซเลบมากขึ้น 

ช่วงหลังมา Social Media มีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ อย่าง Tiktok ที่มาพร้อมฟีเจอร์และฟิลเตอร์สนุก ๆ ที่ชวนคนทั่วโลกลุกขึ้นมาทำชาเลนจ์ ไม่ใช่เพียงแค่การโพสต์ภาพถ่ายหรือเขียนข้อความอย่างเดิม ๆ เกิดการสร้างตัวตนให้คนทั่วไปได้มีช่องทางนำเสนอความชอบ ความครีเอต ความกล้าแสดงออกของตัวเองโดยที่ไม่ต้องเป็นคนดังอยู่ก่อน แถมเผลอ ๆ จะมียอดไลก์ ยอดติดตามเป็นล้านมากกว่าดาราอีกด้วย จึงเป็นช่องทาง Social Media ที่ทำให้เห็นชีวิตประจำวันของคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดาทั่วทุกมุมโลก แถมยังเห็นศักยภาพอันโดดเด่นของกลุ่มคนธรรมดาที่สร้างงานล้อเลียนสนุก ๆ เทียบงานโปรดักชันระดับชาติไม่แพ้มืออาชีพ เช่น แอคเค้าน์เด็กเซาะกราว ที่ทำคลิปมิวสิควิดีโอได้มุมกล้องเดียวกันเป๊ะ ๆ ช็อตต่อช็อต กับศิลปินเกาหลีระดับโลก 

แถมยังเป็นช่องทางนำเสนอความชื่นชอบของแต่ละคน เช่น การรีวิวซีรีส์ รีวิวหนังกันแบบง่าย ๆ จนคนอื่น ๆ ที่เห็นมาก ๆ เข้าก็ตามไปดูด้วยจนถึงขั้นเสียเงินโหลดแอปดูซีรีส์ไปตาม ๆ กัน ทั้งยังเป็นช่องทางการนำเสนอเหตุการณ์ข่าวสารที่รวดเร็ว และได้ผลมาก ไม่ว่าจะเป็นการตามหาคนหาย การช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก การตามจับผู้ร้าย คนขับขี่รถผิดกฎหมาย ซึ่งทำได้อย่างรวดเร็วแบบเรียลไทม์ เพราะทุกคนสามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้หมด จนเป็นเครื่องมือที่สร้างพลังให้ชาวชุมชนช่วยดูแลกันเอง เป็นหูเป็นตาให้กันและกัน และส่งผลกระทบออกไปอย่างกว้างขวางหากมีสำนักข่าวมาตามส่งประเด็นต่อ กลายเป็นข่าวดังระดับประเทศหรือระดับโลกได้

จนเคยมีบางคนบอกว่า พลังของ Social Media ถ้ามีตั้งแต่สมัยก่อน คุณสืบ นาคะเสถียร คงยังไม่เสียชีวิต

แต่อะไรที่มากเกินไปย่อมไม่ดี เพราะการติด Social Media หรือจ้องโทรศัพท์อย่างหนักทำให้กลายเป็นการสร้างสังคมก้มหน้า จนเอาไปสร้างเป็นเพลงฮิตได้ และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่สร้างความเจ็บป่วยทางร่างกายจนแพทย์ต้องออกปากเตือนบ่อย ๆ ว่าจะส่งผลต่อคอบ่าไหล่จากการก้มมองโทรศัพท์มากเกินไป ส่งผลต่อสายตาจากการเพ่งมองหน้าจอมือถือมากเกินไป หรือแม้แต่ส่งผลต่อนิ้วมือและข้อมือ บางรายลามไปถึงข้อศอกและหัวไหล่จากการถือมือถือ ไถมือถือผิดท่ามากเกินไป

นอกจากนี้ Social Media ที่มีหากใช้โดยคนไม่ดี ก็ย่อมสร้างความเดือดร้อนให้คนอื่นที่หลงเชื่อได้ ดังนั้น จึงควรท่องโลกโซเชียลมีเดียอย่างมีสติ ยั้งคิด เล่นแต่พอดี และควรเรียนรู้กฎหมาย PDPA เพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ตัวเองและคนอื่นในภายหลัง

Comments

คอมเม้นกันหน่อย